P/E คืออะไร
หุ้นที่มี P/E ratio สูงหมายถึงว่าเรายอมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อหุ้นตัวนี้เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นอีกตัวนึงที่มี P/E ต่ำกว่า ดังนั้นหลายคนมักจะบอกว่า หุ้นที่มี P/E ratio สูงๆ คือหุ้นที่แพง และหุ้นที่มี P/E ratio ต่ำๆ คือหุ้นที่ถูก ดังนั้น การซื้อหุ้นที่มีราคาถูก น่าจะมีโอกาสกำไรมากกว่าซื้อหุ้นที่แพง
เช่น หากหุ้น A ราคา 60 บาท และมีกำไรต่อหุ้น 5 บาท หุ้น A จะมี P/E ratio 12 เท่า ดังนั้นหากสมมุติว่าหุ้น A ไม่มีหนี้เลยจึงสามารถนำกำไรทั้งหมดมาจ่ายปันผลได้ทั้ง 5 บาท นั่นคือ หุ้น A จะให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปีคือ 5/60 = 8.33% และสมมุติว่าหุ้น A จะสามารถรักษาการทำกำไรได้ปีละ 5 บาทไปเรื่อยๆ จะได้ว่าหากเราลงทุนในหุ้น A จะต้องใช้เวลา 60 / 5 หรือ 12 ปีจึงจะได้ทุนที่ลงไปทั้งหมด 60 บาทคืนมา ดังนั้น P/E จะเปรียบเสมือนระยะเวลาในการคืนทุนของการลงทุนในหุ้นตัวหนึ่งๆ นั่นเอง
เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้น B ราคา 60 บาทเท่ากัน และมีกำไรต่อหุ้น 10 บาท หุ้น B จะมี P/E ratio 6 เท่า ถ้าสมมุติในแบบเดียวกันกับหุ้น A จะได้ว่า หุ้น B จะให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล 10/60 = 16.67% และจะใช้เวลาคืนทุน 6 ปี
ดังนั้น ถ้าหุ้น A กับหุ้น B อยู่ใต้ข้อสมมุติฐานเดียวกันทั้งหมด เราควรจะลงทุนในหุ้นที่มี P/E ต่ำกว่าคือหุ้น B เพราะใช้เวลาในการคืนทุนเร็วกว่าและให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปีมากกว่า
ดังนั้น อาจจะดูเหมือนว่าการใช้ P/E ratio จะง่ายนิดเดียว ก็คือ ซื้อหุ้นที่ P/E ต่ำๆ และขายหุ้นที่ P/E สูงๆ ออกไป แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว อาจจะไม่ทุกครั้งไปที่ทำอย่างนี้แล้วจะได้ผล บางครั้ง การซื้อหุ้นที่มี P/E ratio สูงกลับมีผลกำไรดีกว่าการซื้อหุ้นที่มี P/E ratio ต่ำ เนื่องจากหุ้นแต่ละตัวมีลักษณะไม่เหมือนกัน และไม่ได้เป็นไปตามข้อสุมมติฐานที่สมมุติดังกล่าว
ผมเองชอบหุ้นที่มี P/E ต่ำๆ ครับ แต่คงจะไม่ใช่ว่าหุ้นที่มี P/E ต่ำทุกตัวจะน่าลงทุนนะครับ คงจะต้องดูปัจจัยต่างๆ ที่บอกขั้นต้นคือ การเติบโต ความเสี่ยงและผู้บริหาร ประกอบกันด้วย หากนักลงทุนพบว่าหุ้นตัวไหนมีการขยายตัวของกำไรใช้ได้ ความเสี่ยงไม่สูงนัก ผู้บริหารมีความสามารถ แต่กลับซื้อขายกันที่ P/E ต่ำซึ่งแสดงถึงว่าหุ้นตัวนี้ไม่ค่อยมีคนสนใจ ควรซื้อครับ เพราะหมายถึงว่าเรากำลังพบหุ้นที่จะทำกำไรให้เราเป็นกอบเป็นกำแล้วครับ หากกิจการดีอย่างที่เราคาดไว้จริง จะต้องมีนักลงทุนคนอื่นหรือกองทุนสนใจจะซื้ออย่างแน่นอนครับ
อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรใช้ P/E ratio เพียงอย่างเดียวในการวิเคราะห์หุ้นนะครับ ควรพิจารณาปัจจัยอย่างอื่นประกอบด้วย
P/BV คืออะไร
เราได้คุยกันเรื่อง PE Ratio มาแล้ว คราวนี้ขอคุยเรื่อง PB/V Ratio กันบ้าง เพราะอัตราส่วน
สองตัวนี้นักลงทุนมักนำมาใช้ร่วมกันเสมอๆ
P/BV (Price/Book Value) โดย Book Value คิดมาจาก Equity/Number of Shares โดยทั่วๆไปแล้วค่า P/BV นี้ยิ่งต่ำยิ่งดี ตัวเลขมาตราฐานที่มักจะใช้เป็นฐานก็คือ 1 เท่า หากสามารถซื้อหุ้นที่มีค่า P/BV น้อยกว่า 1 ได้ก็หมายความว่าเราสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท
BV หรือ Book Value แปลเป็นไทยคือ "มูลค่าตามบัญชี" ก็คือมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้น หรือถ้าความหมายจริงๆ ก็คือ มูลค่าของทรัพย์สินที่หักด้วยหนี้สินแล้ว เหลือเป็นมูลค่าของผู้ถือหุ้นเท่าไร
เนื่องจากเป็นมูลค่าทางบัญชี มันจึงเกิดปัญหาขึ้นมาคือ การลงบัญชีนั้นแต่ละบริษัทอาจบันทึกสินทรัพย์และหนี้สินแตกต่างกันไป เช่นสินทรัพย์ถูกกำหนดให้บันทึกมูลค่าที่ราคาทุน คือราคาที่ได้สินทรัพย์นั้นมา บางบริษัทมีที่ดินที่บันทึกไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว พอมาถึงปัจจุบันมูลค่าของที่ดินเพิ่มขึ้นมาหลายเท่าตัว แต่มูลค่าที่บันทึกลงในบัญชีนั้นยังมีมูลค่าเท่ากับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หากไม่มีการประเมินมูลค่าและบันทึกบัญชีใหม่มูลค่าก็ยังคงบันทึกเอาไว้เท่าเดิม
มูลค่าทางบัญชีนี้ถ้าหากเราเข้าใจลึกซึ้งก็สามารถช่วยให้เราค้นพบบริษัทที่น่าลงทุนได้ไม่ยาก
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทมีเครื่องจักรผลิตสินค้าอยู่เครื่องหนึ่ง สามารถผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี พอเวลาผ่านไป มีผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันออกมาขายมากๆ เข้า ผลกำไรที่เคยมีกลับกลายเป็นผลขาดทุน บางบริษัทคู่แข่งทนไม่ไหวเลิกกิจการไประหว่างยังขาดทุน ส่วนบริษัทยังทนผลิตสินค้าต่อไป แน่นอนราคาหุ้นของบริษัทคงต้องตกลงมาอย่างหนัก
และถ้าหากตกลงมามากๆ เมื่อเทียบกับมูลค่าของเครื่องจักรแล้วละก็ดูให้ดีๆ เลยครับ เพราะถ้าเราสร้างเครื่องจักรใหม่อาจต้องใช้เงินทุนมากกว่าราคาหุ้นตอนนั้นแน่นอน
ฉะนั้นหุ้นของบริษัทนั้นจึงถือได้ว่าถูกมากๆ เมื่อเทียบกับราคาที่จะต้องไปลงทุนสร้างเครื่องจักรใหม่ เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตที่ราคาหุ้นปิโตรเคมีบางบริษัทต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี และต่ำกว่ามูลค่าสร้างโรงงานใหม่มาก พอธุรกิจกลับมาเริ่มมีกำไร ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นหลายเท่าตัว
กลับมาดูความหมายของ PBV กันต่อครับ PBV = ราคาหุ้นปัจจุบัน / มูลค่าทางบัญชี หรือ PBV = P0 / Book Value
Book Value = Equity (ส่วนผู้ถือหุ้น)
เอากำไรสุทธิหรือ Net income หรือ Earning เข้ามาคูณและหารไปพร้อมๆ กัน เราจะได้สูตรใหม่ ดังนี้
PBV = (Price x Earning) / (Equity x Earning)
จับคู่ใหม่ให้เห็นชัดๆ คือ PBV = {Price / Earning) x {Earning / Equity) เราจะได้ สูตรใหม่ดังนี้
PBV = PE x ROE
สูตรนี้บอกเราว่าค่า PBV ถูกกำหนดด้วยค่าสองค่าคือ PE และ ROE (อัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น) เรื่อง PE ผมกล่าวไปแล้วเมื่อคราวที่แล้ว ส่วน ROE นั้นค่านี้บอกเราว่าบริษัทเอาเงินทุนที่ได้จากผู้ถือหุ้นไปลงทุนแล้วสร้างผลตอบแทนได้คุ้มค่าหรือไม่
คราวนี้เรามาดูว่า หุ้นที่ PBV มีค่าสูงค่าต่ำนั้นบ่งบอกอะไรบ้าง
หุ้นที่ PBV ต่ำ PE สูง ROE ต่ำ เป็นหุ้นที่อาจมีมูลค่าเกินพื้นฐานไปแล้ว เพราะ PE สูงแต่กลับให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นต่ำ มันจึงมาสะท้อนออกที่ PBV
หุ้นที่ PBV ต่ำ PE ต่ำ ROE สูง อาจเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง (สะท้อนออกทาง PE) หรืออาจจะมีมูลค่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน อันนี้ต้องเข้าไปดูรายละเอียดการดำเนินงานของบริษัท ถ้าธุรกิจดี ไม่เสี่ยงอย่างที่ตลาดคิดก็น่าลงทุนมาก
หุ้นที่ PBV สูง PE สูง ROE ต่ำ หุ้นแบบนี้อันตรายมาก เพราะผลตอบแทนผู้ถือหุ้นต่ำ PE กลับสูง และเชื่อว่าต้องสูงมากถึงสามารถดึง PBV ให้สูงตามไปด้วย
หุ้นที่ PBV สูง PE ต่ำ ROE สูง หุ้นแบบนี้อาจเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง หรือความไม่แน่นอนของการทำกำไรไม่แน่นอน หรือบางครั้งราคาสูงเกินมูลค่าไปแล้วก็ได้ เพราะผลตอบแทนผู้ถือหุ้นสูงมาก แต่ PE กลับต่ำมาก การที่ ROE สูงอาจเป็นเพราะมีหนี้สินมากกว่าทุนมากๆ ก็ได้ แน่นอนครับว่าหนี้สินมากๆ ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงที่สูงตามไปด้วย
ทั้งหมดนี้เราต้องดูพื้นฐานทางธุรกิจประกอบกันเพื่อให้เป็นการยืนยันซึ่งกันและกันว่า ทั้งธุรกิจซึ่งเป็นเหตุนั้นส่งผลให้ผลที่ได้ออกมาคืออัตราส่วนต่างๆ นั้นออกมาในรูปแบบใด
ที่มา http://www.stock2morrow.com/showthread.php?t=32328
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น